ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านทุ่งวัง
นิเวศวิทยาวัฒนธรรมพนมดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ฝั่งขวาแม่โขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาตอนบน จนถึงลุ่มน้ำทะเลสาบ (โตนเลสาบ) โดยมีเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งพื้นที่ประเทศไทย สปป.ลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา ในอดีตเป็นที่อยู่่ของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติก มายาวนานก่อนที่อาณาจักรเจนละจะรุ่งเรือง ที่มีองค์ความรู้ความเชื่อและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ภูเขาด้านหน้า ที่อยู่ในประเทศไทย มีลักษณะลาดลงสู่แม่น้ำมูล ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่สปป.ลาว ประกอบไปด้วยบริเวณที่สูงและเทือกเขา มีลักษณะเป็นร่องลึก มีความลาดชันเพียง ร้อยละ 8-10 และมีแนวคู่ขนานที่เกิดรอยปะทุอันเกิดจากภูเขาไฟเนินต่ำ อันเกิดจากการทับถมของเศษหินและกินที่เกิดจากการเย็นตัวของมวลหินหลอมละลาย หรือ ลาวา ที่ปะทุออกมาจากใต้ผิวโลก บริเวณแถบนี้เปลือกโลกมีความแข็งแกร่งน้อย มีรอยร้าวของเปลือกโลก ปรากฏบ่อน้ำ ปล่องน้ำ น้ำซับ น้ำพุ อันเป็นร่องรอยเดิมของการปะทุระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้รอบ ๆ น้ำซับมีป่าเขียวชอุ่มและป่าดงดิบเป็นหย่อม ๆ เช่น ป่าดงดิบภูศาลา จ.สุรินทร์ ป่าดิบน้ำซับ วนอุทยานเขากระโดง | ||
Google Map. คอมพิวเตอร์กราฟิก : สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (2553) |
||
บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติก ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ดังหลักฐานกลุ่มปราสาทขอมโบราณ ในราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสปป.ลาว กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ด้านหน้าแนวเทือกเขาพนมดงรัก อาทิ เขมร กูย บรู เยียะกูร เยอ โส้ ทะวึง ชอง มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง ดังปรากฏสัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของศิลปะสมัยขอมโบราณ และยังปรากฏร่องรอยแบบแผนการดำเนินชีวิต ในระบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดการวิวัฒน์ของสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ การปกครองในชุมชน โดยอาศัยหลักการผสมผสานความเชื่อ กล่าวคือ “ใช้หลักลัทธิเต๋าครองกาย ศาสนาพุทธครองใจและผีแห่งธรรมชาติครองบ้านเมือง” พบร่องรอยชุมชนโบราณในจังหวัดนครราชสีมา 190 แห่ง จังหวัดบุรีรัมย์ 140 แห่ง จังหวัดสุรินทร์ 92 แห่ง จังหวัดศรีสะเกษ 110 แห่ง และจังหวัดอุบลราชธานี 150 แห่ง ดังปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณที่มีการใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้าน ขุดคู คลองรับน้ำจากคูเมืองชั้นนอกเข้ามาหล่อเลี้ยง เพื่อการบริโภคแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณเนินดินชั้นใน | ||
ระบบนิเวศวิทยาภูเเขาไฟอังคาร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่มีภูมิสัณฐาน ภูเขาลูกเตี้่ยๆ มีแหล่งน้ำซับรอบ ๆ บริเวณ ภาพถ่าย : สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (13 ธันวาคม 2019) |
||
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนพื้นที่ระหว่างเทือกเขาพนมดงรักและแม่น้ำมูล อันเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบโปร่ง ล้ำน้ำสายเล็ก ๆ จำนวนมาก มีหินใต้ดินและธาตุบางอย่างอันเนื่องมาจากลาวาภูเขาไฟ ทำให้รสชาติของข้าวมีความหอมเฉพาะพื้นที่ และเป็นแหลงอันอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณนานาชนิด ด้วยความอุดสมบูรณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดอัตลักษณ์ ที่สามารถบ่มเพาะให้เจริญงอกงาม จากการไหลทับถมของตะกอนของลำน้ำสายต่าง ๆ เทือกเขาพนมดงรัก ที่มีตำนานว่าเป็นผู้หาบคอนอีสานใต้ให้ยกตัวสูงขึ้น อันเกิดจากพื้นที่ถูกยกตัวสูงขึ้นทางธรณีวิทยา โดยการเลื่อนตัวของแผ่นดินในราชอาณาจักรกัมพูชาสอดเข้าไปใต้เปลือกโลก จึงเปรียบเสมือนว่า ผู้ที่ส่วนบนคือ ขะแมร์เลอ ส่วนพวกที่อยู่ด้านล่างคือ ขะแมร์กรอม นั่นเอง ชุมชนโบราณในบริเวณดังกล่าวปรากฏร่องรอยเทคโนโลยีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในการจัดการน้ำ มีทำนบคู่น้ำคันดิน และศาสนาสถานขอมโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นทิศแห่งความเจริญรุ่งเรือง บริเวณคันดินคูน้ำ ใช้เป็นถนนหรือทางเดินในการสัญจรไปมา ตลอดจนการสัญจรแนวธรรมชาติระหว่างแนวเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งพบว่า มีประมาณ 25 ช่อง มีขบวนคาราวานช้าง คาราวานเกวียน นำเกลือสินเธาว์ ไปแลกปลาร้า (ปราฮ็อก) จากลุ่มน้ำโตนเลสาบ ทำให้ชุมชนดังกล่าวมีอารยธรรมที่เด่นแตกต่างไปจากบริเวณอื่น ๆ ที่ยังคงคุณค่าภูมิปัญญาในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงอัตลักษณ์เพื่อความดำรงอยู่ของชุมชน ดังเห็นได้จาก หมอ พระ ครู เป็นผู้ทรงภูมิปัญญา และมีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาก กลายเป็นมรกดทางวัฒนธรรม เกิดความสมดุลระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม สิ่งเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต และพิธีกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดสันติสุขบนความพอเพียงอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน |
||
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและภาพถ่ายทางอากาศยืนยันได้ว่า บ้านทุ่งวังซึ่งตั้งอยู่ระวางหมายเลข 3639 #พิกัด 2686 (ระวางแผนที่ภูมิประเทศ ชุด L7017มาตราส่วน 1:50,000 สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาสตึก) มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ซึ่งเลือกชัยภูมิเป็นเนินดินสูง บ้านทุ่งวังเคยเป็น 1 ในชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง อยู่ในบริเวณที่ลำชี ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บริเวณวังทะลุ (สตึงเปี๊ยะซี) ห่างจากบริเวณสบลำชี ประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินดินสูงคูน้ำล้อมรอบสองชั้นเพื่อใช้เป็นปราการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกและศัตรู ยังคงเหลือการใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในวิถีชีวิต มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นรอบ ๆ คูน้ำเต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณต่าง ๆ ส่วนเนินดินที่เป็นที่สูงพอที่คนโบราณจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ในคราวน้ำหลากหรือน้ำท่วม จากการสำรวจจะพบว่าตามผิวดินของเนินซึ่งเป็นที่สูงจะมีวัตถุที่ทำจากสำริด นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ พบทั้งที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และที่ไม่สมบูรณ์ หลักฐานที่เห็นได้ คือ หลุมศพที่พบตลอดระยะเวลาของการอยู่อาศัยของชุมชนนี้ จะพบว่าโครงกระดูกส่วนมากจะอยู่ในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาบางโครงก็มีมาก บางโครงก็มีน้อย | ||
Google Map. คอมพิวเตอร์กราฟิก : สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (2553) |
||
ชุมชนบ้านทุ่งวัง สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ต่อมากลายเป็นชุมชนร้าง อาจจะด้วยสาเหตุจากภัยธรรมชาติ หรือสงคราม ประชาชนจึงกระจัดกระจายไปตั้งชุมชนเล็ก ๆ ตามป่า หรือชายแดน เรียกว่า "เขมรป่าดง" มีการพบพระพุทธรูป และแผ่นหิน ที่เป็นใบเสมา จากการสัมภาษณ์ นายอ่อน บูรณขจร กำนันตำบลทุ่งวัง คนแรก คำว่า บ้านทุ่งวัง แต่ก่อนเรียกว่า “บ้านโตงเนียง” แปลว่า “ชิงช้าของหญิง” ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ได้มีกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองท่าตูมและเมืองจอมพระ โดยมีผู้นำกลุ่ม 3 คน ประกอบด้วย ขุนชนะ ขุนประทะแดง และขุนทึง นำครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งบริเวณโนนดินสูงบ้านทุ่งวัง ทำให้กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2481 ได้ยกฐานะเป็นตำบลทุ่งวัง ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอสตึก (อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์) ทำเลที่ตั้งของบ้านทุ่งวัง ในอดีตเป็นที่หลบซ่อนของนักโทษหนีการเกณฑ์ทหาร โจรปล้นจี้ การดำรงชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก จะอยู่แบบหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เกรงว่าจะมีบุคคลอื่นมาปล้นจี้ ทรัพย์สินมีค่าของตน หรือทางราชการจะเข้ามาจับกุมไปลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร มีอาชีพรับจ้างเลื่อยไม้ และเจาะต้นยางโดยการเผาเพื่อนำน้ำยางมาทำเป็นขี้ไตเชื้อเพลิง ที่ให้ความร้อนและแสงสว่างขาย จึงต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ นั่นคือที่มาของชุมชนโบราณบนเนินสูงทางทิศตะวันออกชื่อว่าบ้านทุ่งวัง ซึ่งมีความหมายดังนี้ "ทุ่ง" หมายถึงพื้นที่ราบ "วัง" หมายถึง แหล่งน้ำ "ทุ่งวัง" หมายถึง พื้นที่ราบที่ล้อมรอบด้วยแหล่งน้ำ เพื่อใช้เป็นปราการป้องกันข้าศึกศัตรูของหมู่บ้านหนองเกาะน้อยได้เป็นอย่างดี รอบ ๆ คูน้ำเต็มไปด้วยป่าไม้ไผ่ขึ้นอย่างหนาทึบ ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงช้าง และสำหรับหลบซ่อนตีมีด ตีดาบเพื่อใช้เป็นอาวุธป้องกันตนเองและศัตรู ยังปรากฏร่องรอยเศษตะกรันเหล็กที่เกิดจากการเทเตาหลอมปะปนกับชั้นดินอยู่ทั่วไป การสัญจรระหว่างหมู่บ้านหนองเกาะน้อยกับหมู่บ้านข้างเคียงใช้เกวียนเทียมด้วยควายเป็นพาหนะ เนินดินสูงบริเวณรอบบ้านทุ่งวังมี 7 เนิน ซึ่งประกอบด้วย 1) เนินดินสูงโรงเรียนบ้านทุ่งวังเก่า (ปัจจุบันถูกปรับพื้นที่ให้เป็นที่ราบใช้เป็นที่ตั้งสถานีตำรวจชุมชนตำบลทุ่งวัง และสถานที่จ่ายน้ำประปาหมู่บ้านทุ่งวัง)2) เนินดินโคกสูง (คุ้มโคกยูง) อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านทุ่งวังติดกับป่าช้าเก 3) เนินดินสูงที่ตั้งวัดโนนสูงทุ่งสว่าง 4) เนินดินสูงทิศตะวันตก เส้นทางไปหมู่ที่ 8 บ้านสมหวัง 5) เนินดินสูงคุ้มอนามัย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลทุ่งวัง หมู่ที่ 15 บ้านตุงเวียง 6) เนินดินสูงโคกกลาง อยู่ตอนกลางของหมู่บ้านทุ่งวัง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านคุ้มต่ำ 7) เนินดินสูงบ้านหนองเกาะน้อย ปัจจุบันเมืองเก่าบ้านทุ่งวัง แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้านดังนี้ 1. บ้านทุ่งวัง หมู่ที่ 1 2. บ้านคุ้มบ้านต่ำ หมู่ที่ 3 3. บ้านหนองเกาะน้อยหมูที่ 12 4. บ้านตุงเวียง หมู่ที่ 15 |
||
หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ |
||
ภาพถ่าย ปี 2513 เครดิต : อ.กานดา วิระกา แสกนภาพโดย สุวัฒน์ อุ่นทนนท์ (2553) หลวงพ่อใหญ๋ดงแสนตอในอดีต ประดิษฐาน บนเนินดินสูง มีเพิงครอบด้านบน (ภาพถ่าย ปี 2513) |
||
"...ท่ามกลางตอไม้นับแสน ๆ ตอ มีการค้นพบพระพุทธรูปปางมารวิชัย บนแท่นหินทรายพิงกับต้นมะค่าแต้ ...ที่เปล่งแสงประกายเจิดจ้า บนโนนดินสูงเมืองเก่าสมัยทวาราวดี...เป็นที่มาของประวัติหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำทิศบูรพา ของจังหวัดบุรีรัมย์ คนที่มาดำรงตำแหน่งในจังหวัดบุรีรัมย์ จะต้องมาเคารพสักการะ ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล..." | ||
บนเนินดินสูงเมืองเก่าบ้านทุ่งวังในอดีตที่เรียกว่า “เมืองโตงเนียง” มีการค้นพบพระพุทธรูปสูงใหญ่ปางมารวิชัย สมัยขอมเรืองอำนาจ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ทำด้วยหินทรายสีคล้ายดินลูกรังแดงอมส้ม หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 2.10 เมตร นั่งประทับบนหินทรายที่นำมาเรียงกันเป็นแท่นหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังองค์พระพุทธรูปพิงกับต้นมะค่าแต้ ซึ่งเคยเกิดไฟไหม้แต่องค์พระพุทธรูปมิได้รับความเสียหายแต่ประการใด จึงที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไปตั้งชื่อตามลักษณะที่พบพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ” หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นโบราณวัตถุอันเป็นที่เคารพ สักการะคู่บ้านทุ่งวังมาตั้งแต่อดีต สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ. 2433 ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างที่บังแดดบังฝนขึ้นครอบองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นครั้งแรก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพระพุทธรูปมิได้เคลื่อนย้ายไปที่แห่งใดเลยแม้ว่าจะมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ตามแปลนกรมศิลปากร ( หลักฐานสมุดบันทึกของอธิการพุฒกิตติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดโนนสูงทุ่งสว่าง) หลวงพ่อใหญ่ดงแสนเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระพุทธรูปบ้านวังปลัด อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอสตึก หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จะต้องหาโอกาสมานมัสการทุกครั้งเมื่อได้เข้ารับดำรงตำแหน่ง
ปฏิหาริย์หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ ปัจจุบันผู้ที่สักการะเคารพบูชาเหรียญของหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ รุ่นที่ 1 (สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515) เชื่อว่าสามารถคุ้มครองอุบัติเหตุทางบกหรือบุคคลใดที่เข้าไปถ่ายรูปหลวงพ่อใหญ่แสนตอภายในโบสถ์ หากไม่ได้จุดธูปเทียนบอกกล่าวให้ท่านทราบก่อนมักจะถ่ายรูปองค์พระพุทธรูปไม่ติดฟิล์มจะมีสีดำมัว ๆ
รวมลิงก์ : |
||
ผู้เขียน : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (ปร.ด.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค สามารถนำไปเผยแพร่และใช้ในการอ้างอิงได้ ข้อมูลทางบรรณานุกรม : สุวัฒน์ อุ่นทานนท์. (2563). หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ นิเวศวิทยาศาสนาลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง. [ออนไลน์] : เข้าถึงได้จาก : http://www.brm4.go.th/sysinfo_br4/mresource_br4/28-resourcebr4_003.html/. สืบค้น (......). แหล่งข้อมูล : วิมล แต้มสคราม. (2545). ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านทุ่งวัง ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์. บุรีรัมย์ : เอกสารประกอบผลงานทางวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ 3 โรงเรียนบ้านทุ่งวัง ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์. สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ (2553). ภูมิปัญญาช้างบ้านในนิเวศวิทยาวัฒนธรรมพนมดงรัก-เซเปียน. สุรินทร์ : วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (การศึกษาและจัดการภูมิปัญญา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. ภาพประกอบ : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์ |